บทที่1
การศึกษาเป็นการพัฒนามนุษย์
กับหลักสูตร
มโนทัศน์ (Concept)
การศึกษาเป็นการพัฒนามนุษย์ ผ่านกระบวนการสั่งสอน กระบวนการฝึกอบรม หรือกระบวนการถ่ายทอดความรู้ ความชำนาญ และทัศนคติที่รวมเรียกว่าประสบการณ์ ซึ่งมนุษย์เป็นผู้จัดและถ่ายทอดให้แก่กัน หมายรวมถึงวัฒนธรรมหรือวิธีทางแห่งการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งที่มองเห็นได้ชัดเจนและไม่มองเห็น
ผลการเรียนรู้ (Learning Outcome)
1. มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษากับหลักสูตร
2. อธิบายและนิยาม /ความหมาย : การพัฒนาหลักสูตร
สาระเนื้อหา (Content)
1. การศึกษาในฐานะเครื่องมือการพัฒนา
การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาและเป็นเครื่องชี้นำสังคม
ผู้ได้รับการศึกษาจึงเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
การเรียนการสอนเป็นการพัฒนาคน ซึ่งไม่ใช่สิ่งทดลองหรือลองผิดลองถูก
กระบวนการพัฒนาคนนั้นครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา
และผู้ที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์
การออกแบบการสอนเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการสอน เพื่อให้การสอนบรรลุเป้าหมายที่กำหนด
โดยอาศัยระบบที่มีขั้นตอนพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การศึกษา (Education)
เป็นการเพิ่มศักยภาพของมนุษย์
ให้สามารถปฏิบัติงานที่มีความแตกต่างจากงานเดิมได้
การศึกษาเป็นกระบวนการในการพัฒนามนุษย์ ทั้งในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยตัวของมันเอง
และในฐานะที่เป็นทรัพยากร การศึกษาเป็นการพัฒนาคนที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ (knowledge-based)
วิจิตร ศรีสะอ้าน (2539 : 232 - 233) กล่าวว่า
การศึกษามีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ
1) การศึกษาเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปในแนวทางที่ปรารถนา
2) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้เป็นไปโดยจงใจ
โดยมีการกำหนดจุดมุ่งหมายซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดไว้
3) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้กระทำเป็นระบบ
มีกระบวนการอันเหมาะสมและผ่านสถาบันทางสังคมที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ด้านการศึกษา
กระบวนการพัฒนามนุษย์อย่างรอบด้าน
การศึกษา คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์จากพฤติกรรมอาศัยสัญชาตญาณ
ให้เป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่อาศัยเหตุผลและสติปัญญาเพราะโดยธรรมชาติมนุษย์จะทำอะไรตามความปรารถนาของตนตามสัญชาตญาณจึงต้องควบคุมด้วยสติปัญญาเพื่อให้สังคมยอบรับได้คืออยู่ในสังคมกันอย่างสันติสุข
ตามแนวพุทธ การศึกษาคือกระบวนการฝึกกายวาจา และจิต ของแต่ละคนให้รู้จักแยกระหว่างความดี และความชั่ว ทั้งระดับการตอบสนองทางร่างกาย และทางจิตใจ การฝึกกายวาจา และจิตใจ จะต้องใด้รับการฝึกจนเขาสามารถทำสิ่งที่ถูกต้องในทีท่าที่ถูกต้อง และในเวลาที่ถูก เพราะการศึกษาจะช่วยพัฒนาคนให้พ้นจากความไม่รู้ สามารถสร้างให้คนรู้จักการคิดเป็นทำเป็น สามารถช่วยตนเองและไม่เป็นภาระแก่สังคมได้ การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งในการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์
ปัจจุบัน ตามหลักการศึกษาในพระพุทธศาสนาคือการฝึกหัดพัฒนามนุษย์ให้ดำเนินไปในวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามโดยเป็นการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่
๑. การพัฒนากาย คือการพัฒนาทางด้านร่างกาย ให้สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรค รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายอย่างดี มีความสมบูรณ์ของชีวิตในด้านกาย เรียกว่า กายภาวนา
๒. พัฒนาศีล คือมีการพัฒนาการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดี เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน และมีความสัมพันธ์ทงสังคมในลักษณะสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดสันติสุข บางครั้งก็เรียกว่า พัฒนาสังคมหรือเรียกว่า ศีลภาวนา
๓. พัฒนาจิต คือการฝึกฝนอบรมสร้างเสริมจิตใจให้พร้อมบริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่
๓.๑ คุณภาพจิต คือการฝึกอบรมจิตใจให้เข้มแข็ง ให้มีจิตใจที่ดีงามถึงพร้อมด้วยคุณธรรมต่าง
ๆ เช่น ความเสียสละ ความมีเมตตา ความซื่อสัตย์สุจริต และความอดทน
๓.๒ สมรรถภาพจิต คือพัฒนาความสามารถจิตใจ ยกระดับจิตใจให้มีสมรรถนะสูงขึ้น
๓.๓ สุขภาพจิต คือมีสุขภาพจิตดี สมบูรณ์ มั่นคง ตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนถึงกระบวนการ การพัฒนาจิตทั้งหมดเรียกว่า จิตภาวนา
๔. พัฒนาปัญญา คือการฝึกฝนอบรมตนให้มีปัญญามีความรู้ความเข้าใจ ในศิลปะวิทยาการต่าง ๆ เกิดเป็นทักษะ ความรู้ความสามารถ มีปัญญาในการรับรู้ได้อย่างถูกต้อง คิดเป็น วินิจฉัยปัญหาเป็นมีปัญญาเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงเข้าถึงความจริงแท้ได้ เรียกว่าปัญญาภาวนา
พระธรรมโกศาจารย์(ประยูรธมฺมจิตฺโต) ได้กล่าวว่าการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
จะต้องมีองค์ประกอบ ๔ ประการที่เรียกว่า จตุสดมภ์ของการศึกษา มีดังต่อไปนี้
๑. การศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพ หมายถึงการเรียนเพื่อเตรียมเครื่องมือสำหรับการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิตหรือการเตรียมจิตใจของผู้เรียนให้มีความพร้อมที่จะศึกษาต่อไป
และตามหลักพุทธศาสนาคือขั้นแรกผู้เรียนต้องมีฉันทะที่จะเรียนฝึกอบรบให้มีสติและสมาธิเพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความจำดีตลอดรู้จักคิดวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลทั้งหลายเพื่อแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
๒. การศึกษาเพื่อพัฒนาสมรรถภาพ หมายถึงการเรียนเพื่อนำความรู้มาปฏิบัติให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์และสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้
เพื่อให้ทีมงานแข็งแกร่งซึ่งคนรุ่นใหม่ต้องมีมนุษยสัมพันธ์และมีคุณธรรมจริยธรรมในการทำงานร่วมกัน
เพื่อวางรากฐานให้กับระบบธรรมาภิบาล ก็คือการบริหารจัดการที่ดีเน้นความโปร่งใส
ไม่มุ่งเน้นแต่โกงกินบ้านเมือง
๓. การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นคนดีใช้ความรู้ความสามารถทำคุณประโยชน์แก่ผู้อื่นคือสอนให้อยู่อย่างมีความสุขด้วยการทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม
๔. การศึกษาเพื่อพัฒนามนุษยภาพ หมายถึงการศึกษาต้องพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เต็มตามศักยภาพทั้งทางกาย
ทางสังคม ทางอารมณ์และทางปัญญา สามารถแก้ปัญหาชีวิตได้
ดังนั้น การที่โลกจะมีสันติภาพ มวลมนุษย์ทั้งโลกจะมีชีวิตอยู่ร่วมกันโดยสันติสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืนนั้น ไม่อาจจะใช้พลังอำนาจกำลังอาวุธ เข้าควบคุมบังคับได้แม้มาตรการยับยั้งและควบคุมทางการเมืองการปกครองด้วยอำนาจรัฐมาตรการทางสังคมหรือปฏิญญาต่างๆ ที่จัดสร้างขึ้นก็ย่อมไม่เพียงพอและไม่อาจใช้สร้างสันติสุขและแก้ปัญหาอันซับซ้อนอของสังคมโลกให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพได้มีเพียงใจคนที่ได้รับการพัฒนาและยกระดับให้มีศีลธรรมอยู่ในจิตใจแล้วเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาทั้งหลายดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนและถาวร
2. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต, 2539 : 2 - 4 ) กล่าวไว้ว่า ทรัพยากรมนุษย์
เป็นคำที่เกิดมาไม่นานนัก (เกิดในช่วง ค.ศ. 1965 – 1970 คือ
พ.ศ. 2508 – 2513) เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ
และต่อมาก็ขยายไปถึงการพัฒนาสังคม เป็นการมองคนอย่างเป็นทุน
เป็นเครื่องมือเป็นปัจจัยหรือเป็นองค์ประกอบที่จะใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ต่อมาเราเห็นว่าการที่จะพัฒนาโดยมุ่งเน้นแต่ในด้านเศรษฐกิจนั้นไม่ถูกต้องแต่สิ่งที่สำคัญคือ
คนเรานี่เอง ซึ่งควรจะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เราจึงหันมาเน้นในเรื่องการพัฒนาคน
แต่ก็ยังมีการใช้ศัพท์ที่ปะปนกัน บางทีใช้คำว่าทรัพยากรมนุษย์
บางที่ใช้คำว่าพัฒนามนุษย์
พัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์
กับการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์นี้มีความหมายต่อการศึกษา
เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการในการพัฒนาคน ทั้งในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยตัวของมันเอง
และในฐานะที่เป็นทรัพยากร ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันคือ
การศึกษาเพื่อพัฒนาตัวมนุษย์นั้น เป็นการศึกษาที่เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(การศึกษาระยะยาว) ส่วนการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีความหมายขึ้นกับกาลเทศะ
หรือยุคสมัยมากกว่า คือเป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของยุคสมัยนั้น
(การศึกษาระยะสั้น) เช่น เพื่อสนองความต้องการของสังคมในด้านกำลังคนในสาขางานและกิจการต่างๆ
ฉะนั้นเราจึงควรจัดการศึกษาทั้งสอง อย่างนี้ให้สัมพันธ์กัน
เพราะถ้าเราสามารถพัฒนาทั้งสองส่วนนี้ให้สัมพันธ์กันจนเกิดดุลยภาพขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อชีวิตและสังคมมาก
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต 2540
: 1) กล่าวว่า
ชีวิตจะดีงามมีความสุข ประเทศชาติจะรุ่งเรืองมั่นคง และสังคมจะร่มเย็นเกษมศานต์
ด้วยปัจจัยสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาคน ซึ่งจะทำให้คนเป็นคนดีมีความสุข
และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ การพัฒนาคนก็คือ การศึกษา คนที่มีการศึกษา
ตลอดจนจบการศึกษาแล้วเรียกว่า บัณฑิต เมื่อว่าโดยเนื้อหาสาระบัณฑิต ก็คือ
คนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท
พัฒนาชีวิตของตนจนลุถึงประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของชีวิต
การพัฒนา (Development) เป็นการฝึกอบรมคนให้มีความสามารถใหม่
เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ มุมมองใหม่ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถสร้างสรรค์งานได้ผลดียิ่งขึ้น
มีบริการที่รวดเร็วกว่า มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนารายบุคคลแต่ไม่เกี่ยวข้องกับงานปัจจุบันหรืออนาคต
บุคลากรในองค์กรทำให้องค์กรได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้อยู่ในแนวหน้า
ปัจจุบันเราเรียกองค์กรนี้ว่า องค์กรแห่งการเรียนรู้
การพัฒนามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่เป็นระบบ
ทำให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพและต่อเนื่อง มีการปรับบทบาทหน้าที่ การคงอยู่ขององค์กร
กล่าวโดยสรุปการศึกษาในฐานะเครื่องมือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มุ่งการจัดระบบประสบการณ์การเรียนรู้
การดำเนินการภายในเวลาที่จำกัด
เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ
และการเจริญเติบโตของงาน การพัฒนามนุษย์ (Human
Development) ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 พรบ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2545 และ
พรบ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. 2553
มีเจตนารมณ์ที่ต้องการเน้นย้ำว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม
มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ
การศึกษานอก และการศึกษาตามอัธยาศัย หลักสูตรการศึกษาระดับต่างๆ
ต้องมีลักษณะหลากหลายทั้งนี้ให้จัดตามความเหมาะสมของแต่ละระดับโดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้เหมาะสมแก่วัยและศักยภาพ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติทั้งสามฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการศึกษา
อาจสรุปหลักการด้านหลักสูตร ปรากฏตามมาตราต่าง ๆ ดังนี้
มาตรา 8 (3) การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
มาตรา 27
ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรภาคบังคับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ
ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ
ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง
ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น
คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
มาตรา 28 หลักสูตรสถานศึกษาต่าง ๆ
รวมทั้งหลักสูตรสถานศึกษาสำหรับบุคคลพิการ ต้องมีลักษณะหลากหลาย
ทั้งนี้ให้จัดตามความเหมาะสมของแต่ละระดับ
โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้เหมาะสมแก่วัยและศักยภาพ
สาระของหลักสูตรทั้งที่เป็นวิชาการและวิชาชีพ
ต้องมุ่งพัฒนาคนให้มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ ความดีงาม
และความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา
นอกจากคุณลักษณะในวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว
ยังมีความมุ่งหมายเฉพาะที่จะพัฒนาวิชาการ วิชาชีพชั้นสูง และด้านการค้นคว้า วิจัย
เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาทางสังคม
>>>การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)
คำจำกัดความของ “ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ”
มนุษย์ คือ สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล สัตว์ที่มีจิตใจสูง ทรัพยากร หมายถึง สิ่งทั้งปวงอันเป็นทรัพย์ ส่วน
พัฒนา หมายถึง ทำให้เจริญ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525) จากความหมายของศัพท์ดังกล่าว สรุปได้ว่า
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือการทำให้มนุษย์เจริญ มีศักยภาพมากขึ้นจนกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าในสังคมและในประเทศ
พัฒนา หมายถึง ทำให้เจริญ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525) จากความหมายของศัพท์ดังกล่าว สรุปได้ว่า
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือการทำให้มนุษย์เจริญ มีศักยภาพมากขึ้นจนกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าในสังคมและในประเทศ
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
หมายถึง กระบวนการดำเนินงานที่ส่งเสริมให้ บุคลากรเพิ่มความรู้ และทักษะมีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลายๆ คนมักจะมีคำถามกับคำว่า "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์(Human
Resources Development)" มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการต่างๆ
ในองค์การอย่างไร ก่อนอื่นต้องมาดูคำจัดกัดความของกูรู ต่างๆ ดังนี้
Swanson (1995) ให้ความหมายว่าเป็นกระบวนการของการพัฒนาและการทําใหบุคลากรได้แสดงความเชี่ยวชาญ
(Expertise) โดยใชการพัฒนาองค์การ
การฝึกอบรมบุคคลและพัฒนาบุคคลโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงาน
Rothwell and Sredl (1992) ใหความหมายว่า
เป็นการจัดประสบการณการเรียนรู้ขององค์การ(Organizational Learning) โดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ
เพื่อจุดประสงค์ในการปรับปรุงการทํางานซึ่งเน้นการทําให้บุคลากรทํางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยการบูรณาการเป้าหมายขององค์การและความต้องการของบุคคลให้สอดรับกัน
>>>หลักการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เป็นการนำศักยภาพของแต่ละบุคคลมาใช้ ในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
และสร้างให้แต่ละบุคคลเกิดทัศนคติที่ดีต่อองค์การ
ตลอดจนเกิดความตระหนักในคุณค่าของตนเอง เพื่อนร่วมงานและองค์การ เมื่อพิจารณา
1. มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาให้เพิ่มพูนขึ้นได้
ทั้งด้านความรู้ ด้าน ทักษะและเจตคติ ถ้าหากมีแรงจูงใจที่ดีพอ
2. การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ควรเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือก นำมาสู่การพัฒนาในระบบขององค์การ
3. วิธีการในการพัฒนาทรัพยากรมีหลายวิธี จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะขององค์การ และบุคลากร
4. จัดให้มีระบบการประเมินการพัฒนาความสามารถของบุคลากรเป็นระยะ
ๆ เพื่อช่วยแก้ไขบุคลากรบางกลุ่ม
ให้พัฒนาความสามารถเพิ่มขึ้นและในขณะเดียวกันก็ สนับสนุน
ให้ผู้มีขีดความสามารถสูงได้ก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่งใหม่ที่ต้องใช้ ความสามารถสูงขึ้น
5. องค์การจะต้องจัดระบบทะเบียนบุคลากรให้เป็นปัจจุบัน ที่สามารถ ตรวจสอบความก้าวหน้าได้เป็นรายบุคคล
แนวความคิดของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ให้นิยามการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า
หมายถึง การดำเนินการให้ บุคคลได้รับประสบการณ์และการเรียนรู้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
เพื่อที่จะนำเอามา ปรับปรุงความสามารถในการทำงานโดยวิธีการ 3 ประการ คือ
1. การฝึกอบรม (training) เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้
โดยมุ่งเน้น เกี่ยวกับงานที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน (present job) เป้าหมาย คือการยกระดับความรู้ ความสามารถ ทักษะ ของพนักงานในขณะนั้น
ให้สามารถทำงานในตำแหน่งนั้นๆได้ ซึ่ง
ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมไปแล้วสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ทันที
2. การศึกษา (education) เป็นวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยตรง
เพราะ การให้การศึกษาเป็นการเพิ่มพูนความรู้ทักษะ ทัศนคติ
ตลอดจนเสริมสร้างความสามารถ ในการปรับตัวในทุกๆด้านให้กับบุคคล
โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับงานของพนักงานในอนาคต (future job) เพื่อเตรียมพนักงานให้มีความพร้อมที่จะทำงานตามความต้องการของ
องค์กรในอนาคต
3. การพัฒนา (development) เป็นกระบวนการปรับปรุงองค์กรให้มี
ประสิทธิภาพ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่ได้มุ่งตัวงาน (not focus on a
job) แต่มีจุดเน้น ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่องค์กรต้องการ
และพร้อมที่จะปฏิบัติงานกับองค์กรใน อนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี
รวมทั้งสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่าง รวดเร็ว
กลุ่มที่ 2 ให้นิยามการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า หมายถึง การนำกิจกรรมที่มีการ กำหนดและวางรูปแบบอย่างเป็นระบบเพื่อใช้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความสามารถ และ ปรับปรุงพฤติกรรมของพนักงานให้ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ส่วน คือ
1. การพัฒนาบุคคล (Individual
Development)
2. การพัฒนาสายอาชีพ (Career
Development)
3. การพัฒนา องค์การ (Organization
Development)
โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะเกิดได้จากการนำเป้าหมายของบุคคล
ซึ่งต้องให้ได้มาซี่งเป้าหมายของแต่ละคน
เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายขององค์การที่ต้องการบุคคลากรประเภทใดทั้งในระยะ สั้น
ระยะกลาง และระยะยาว โดยการนำการพัฒนาสายงานอาชีพเป็นตัวเชื่อมเป้าหมายของบุคคล
กับเป้าหมายขององค์การนั้น
กลุ่มที่ 3 ให้นิยามการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า หมายถึง การที่จะพัฒนาองค์การ ให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างการเรียนรู้และงานเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถนำมารวมกันได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบใน 3 ส่วน คือ
1. ระดับบุคคล (Individual)
2. ระดับกลุ่มหรือทีมผู้ปฏิบัติงาน (Work
Group or Teams)
3. ระดับระบบ โดยรวม (The
System)
ซึ่งกระบวนการเรียนรู้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท
คือ
(1) การเรียนรู้จากประสบการณ์ (อดีต)
(2) การเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
ปัจจุบัน
(3) การเรียนรู้เพื่อที่จะเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
อันเป็นที่มาของ วินัย 5 ประการ (Disciplines
of the Learning Organization) ประกอบด้วย
1. ความเชี่ยวชาญส่วนบุคคล (Personal Mastery)
2. กรอบแนวความคิด (Mental Models)
3. การร่วมวิสัยทัศน์ (Shared Vision)
4. การเรียนรู้ของทีม (Team Learning)
5. การคิดแบบเป็นระบบ(Systems Thinking)
3. หลักสูตร
3.1 ความหมายของ หลักสูตร
คำว่า “หลักสูตร” แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า “curriculum” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า
“currere” หมายถึง “running course” หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่ง
ต่อได้นำศัพท์นี้มาใช้ในทางการศึกษาว่า “running sequence or learning
experience” (Armstrong,1986:2) การที่เปรียบเทียบหลักสูตรกับสนาม
หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่งอาจเนื่องมาจากการที่ผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาในระดับใดหรือหลักสูตรใดก็ตาม
ผู้เรียนจะต้องฟันฝ่าความยากของวิชาหรือประสบการณ์การเรียนรู้ตามลำดับขั้นที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
เช่นเดียวกับนักวิ่งที่ต้องวิ่งแข่งและฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่ชัยชนะและความสำเร็จให้ได้ในสมัยก่อนในประเทศไทยใช้คำว่า
“หลักสูตร” กับคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “syllabus”
ปรากฏในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย พุทธศักราช 2503 ฉบับภาษาอังกฤษ เรียกว่า “Syllabus for Lower secondary
Educationm B.E. 2503” และ “Syllabus for Upper secondary
Educationm B.E. 2503” แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “curriculum”
แทน เช่น หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรุง2533) ฉบับภาษาอังกฤษเรียกว่า “Lower
Secondary School Curriculum B.E.2521 (Revised Education B.E.2533)” เพื่อต้องการแยกความหมายให้ชัดเจน
เพราะคำว่า syllabus และ curriculum มีความหมายที่แตกต่างกันดังที่
English Language Dictionary ให้ความหมายของคำทั้งสองดังนี้
“curriculum” หมายถึง 1. รายวิชาต่างๆ ทั้งหมดที่จัดสอนในโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย (all
the different courses of study that are taught in a school, college, or
university e.g. the school curriculum) และ 2. รายวิชาหนึ่งๆ ที่จัดสอนในโรงเรียน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย (one
particular course of study is taught in a school, college, or university e.g.
the English curriculum )
“syllabus”
หมายถึง หัวข้อเรื่องที่จะศึกษาในรายวิชาหนึ่งๆ (the
subjects to be studied in a particular course) จากความหมายข้างต้นนี้จะเห็นว่า
คำว่า “curriculum” ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันจะเหมาะกว่าคำว่า “syllabus”
ส่วนคำว่า “syllabus” จะใช้เมื่อหมายถึงประมวลการสอนในแต่ละรายวิชาซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย
เนื้อหาสาระ กิจกรรม การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล “หลักสูตร”
เป็นคำศัพท์ทางการศึกษาคำหนึ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย
และมีผู้ให้ความหมายไว้มากมายและแตกต่างกันไปบางความหมายมีขอบเขตกว้างบางความหมายมีขอบเขตแคบทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นและประสบการณ์ที่แตกต่างกันของบุคคลนั้นๆ
ที่มีต่อหลักสูตร เช่น
กู๊ด (Good,1973:157) ได้ให้ความหมายของคำศัพท์ไว้ในพจนานุกรมทางการศึกษา (Dictionary of Education) ว่า หลักสูตรคือ กลุ่มรายวิชาที่จัดไว้อย่างมีระบบหรือลำดับวิชาที่บังคับสำหรับการจบการศึกษาหรือเพื่อรับประกาศนียบัตรใบสาขาวิชาหลักต่างๆ เช่น หลักสูตรสังคมศึกษา หลักสูตรพลศึกษา
บ๊อบบิท (Bobbit,1918:42)ได้ให้ความหมายไว้ว่า หลักสูตร คือรายการของสิ่งต่างๆ ที่เด็กและเยาวชน ต้องทำและมีประสบการณ์ ด้วยวิธีการพัฒนาความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าวให้ดี เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ได้
นักลีย์และอีแวนส์ (Neagley and Evans,1967:2) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า คือ ประสบการณ์ที่โรงเรียนจัดเพื่อช่วยให้นักเรียนได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามความสามารถของนักเรียน
โอลิวา (Oliva,1982:10) กล่าวว่า หลักสูตรคือ แผนหรือโปรแกรมสำหรับประสบการณ์ทั้งหลายที่ผู้เรียนจะต้องประสบปัญหาภายใต้การอำนวยการของโรงเรียน
วีลเลอร์ (Wheenler,1974:11) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า มวลประสบการณ์การเรียนรู้ซึ่งโรงเรียนหรือสถานการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน
โครว์ (Crow,1980:250) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรคล้ายกับของวิลเลอร์ เขากล่าวว่า หลักสูตรเป็นประสบการณ์ที่นักเรียนได้รับทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อนักเรียนมีการพัฒนาด้านร่างกาย สังคม ปัญญา และจิตใจ
แคสเวนและแคมป์เบลล์ (Caswell &Campbell,1935:69) ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในหนังสือ Curriculum Development ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1935 โดยให้ความหมายของหลักสูตรในโรงเรียนว่า “หลักสูตรประกอบด้วยประสบการณ์ทุกอย่างที่จัดให้แก่เด็กโดยอยู่ในความดูแลการสอนของครู” แคสเวนและแคมป์เบลล์ไม่ได้มองหลักสูตรว่าเป็นกลุ่มของรายวิชาแต่หมายถึง “ประสบการณ์ทุกชนิดที่เด็กมีภายใต้การแนะนำของครู”
เซย์เลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor&Alexander,1974:6)ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรว่า “เป็นแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้ให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่วางไว้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบ” ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของทาบา (Taba,1962:10) ที่กล่าวไว้ว่า “หลักสูตรคือ แผนการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยจุดประสงค์และจุดมุ่งหมายเฉพาะการเลือกและการจัดเนื้อหา วิธีการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล”
เชฟเวอร์และเบอร์เลค (Shaver and berlak,1968:9) กล่าวว่า หลักสูตร คือ กิจกรรมที่ครูจัดให้นักเรียนได้เล่นเพื่อให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้
ทรัมพ์และมิลเลอร์ (Trump and Miller,1973:11-12) กล่าวว่า หลักสูตรคือกิจกรรมการเรียนการสอนชนิดต่างๆ ที่เตรียมการไว้และจัดให้แก่เด็กนักเรียนหรือระบบโรงเรียน นักการศึกษาของไทยหลายท่านได้แสดงความคิดเห็น และความหมายของคำว่าหลักสูตรไว้หลายประการเช่น
สุมิตร คุณานุกร (2520,2-3) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ในสองระดับ คือหลักสูตรในระดับชาติและหลักสูตรในระดับโรงเรียน หลักสูตรระดับชาติหมายถึง “โครงการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ และคุณลักษณะ สอดคล้องกับความมุ่งหมายทางการศึกษาที่กำหนดไว้” ส่วนหลักสูตรในระดับโรงเรียนหมายถึง “โครงการที่ประมวลความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกโรงเรียนก็ตาม เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้”
ธำรง บัวศรี (2532:6) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อได้แสดงถึงจุดมุ่งหมาย การจัดเนื้อหาสาระ กิจกรรม และประมวลประสบการณ์ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้
เอกวิทย์ ณ ถลาง (2521:108) เขียนในบทความเรื่อง “ข้อคิดเรื่องหลักสูตร” ได้ให้ความหมายว่า หลักสูตร หมายถึง มวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้เด็กได้เรียน เนื้อหาวิชาและทัศนคติ แบบพฤติกรรม กิจวัตร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เมื่อประมวลเข้ากันแล้วก็เป็นประสบการณ์ที่ผ่านเข้าไปในการรับรู้ของเด็กถือว่าเป็นหลักสูตรทั้งสิ้น
จากความหมายของหลักสูตรในลักษณะต่างๆ ที่ได้ยกตัวอย่างของระดับความคิดของ นักการศึกษาทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทย
สามารถนำมาสรุปแนวความคิดเกี่ยวกับความหมายของหลักสูตรเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นได้ดังนี้
3.1.1. หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาและเนื้อหาสาระที่จัดให้แก่ผู้เรียน
หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาและเนื้อหาสาระนั้นหมายถึงวิชาและเนื้อหาสาระที่กำหนดให้ผู้เรียนต้องเรียนในชั้นและระดับต่างๆ
หรือกลุ่มวิชาที่จัดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น
หลักสูตรเตรียมแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์ หลักสูตรธุรกิจ
หลักสูตรตัดเสื้อและหลักสูตรการเลี้ยงสุกร
จากอดีตตั้งแต่เริ่มมีหลักสูตรจนถึงปัจจุบันนี้
แนวคิดที่สำคัญของความหมายของหลักสูตรก็ยังคงเป็นวิชาและเนื้อหาวิชาที่ครูสอนให้
และนักเรียนใช้เรียนในสถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ
แม้จะได้มีความพยายามที่จะทำให้หลักสูตรมีความหมายที่กว้างและแตกต่างไปจากเดิมแต่แนวความคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชา
และเนื้อหาที่จัดให้แก่ผู้เรียนก็ยังคงฝังแน่นและเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดหลักสูตร
3.1.2. หลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารหลักสูตร
กลุ่มหนึ่งจัดให้จัดให้อีกกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยจุดหมาย หลักการ โครงสร้าง
เนื้อหาสาระ อัตราเวลาเรียน กิจกรรมประสบการณ์ และการประเมินผลการเรียน
เพื่อให้ผู้เรียนมีรู้ความสามารถ มีเจตคติที่ดีในการอยู่ร่วมกัน
มีพฤติกรรมตามที่กำหนดไว้ในจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
แนวคิดนี้จะเน้นหลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารเป็นรูปเล่ม ซึ่งจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ เอกสารหลักสูตร
และเอกสารประกอบหลักสูตร
เอกสารหลักสูตรเป็นเอกสารที่กล่าวถึงสาระของหลักสูตรโดยตรง
คือกล่าวถึงจุดมุ่งหมายหลักการ โครงสร้าง
และเนื้อหาที่จัดไว้ในหลักสูตรนั้นๆ เช่น หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2533) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตสาขาวิศวกรรมเครื่องกล หลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต
เป็นต้น
ส่วนเอกสารประกอบหลักสูตร
เป็นเอกสารที่อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ
ของหลักสูตรเพื่อให้การนำหลักสูตรไปใช้ได้ผลตามความมุ่งหมาย
ตัวอย่างเอกสารประกอบหลักสูตรได้แก่ คู่มือหลักสูตร คู่มือครูเกี่ยวกับหลักสูตร
แผนการสอนกลุ่มวิชาต่างๆ หรือคู่มือการประเมินผลการเรียน
3.1.3. หลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่างๆ ที่จะให้แก่ผู้เรียน
แนวคิดของหลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่างๆ
ที่จัดให้แก่ผู้เรียนนี้เป็นการมองหลักสูตรในลักษณะของกิจกรรมต่างๆ
ที่ครูและนักเรียนจัดขึ้น หรือกิจกรรมการเรียนการสอนชนิดต่างๆ
ที่เตรียมไว้และจัดให้แก่ผู้เรียนโดยโรงเรียนทั้งในและนอกโรงเรียน
เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ประสบการณ์ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่กำหนด
กิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะนำไปสู่ประสบการณ์ทางด้านความรู้
ความเข้าใจ เจตคติ ทักษะต่างๆ อันแสดงถึงการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
กิจกรรมที่ควรจัดให้แก่ผู้เรียนจะต้องปรากฏอยู่ในหลักสูตรอย่างชัดเจน
หลักสูตรหมายถึงกิจกรรมต่างๆที่จัดให้ผู้เรียน
3.1.4. หลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียน
แนวคิดของหลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียนนี้
จะเป็นแผนในการจัดการศึกษาเพื่อแนวทางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ
โดยมุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ และพฤติกรรมตามที่กำหนด
แผนสำหรับจัดโอกาสทางการศึกษาจะแสดงเกี่ยวกับจุดหมายหรือจุดประสงค์ของการออกแบบหลักสูตร
การนำหลักสูตรไปใช้และการประเมินผล
แผนนี้สร้างขึ้นตามประเภทสถานการณ์หรือกลุ่มบุคคลในระดับการศึกษาต่างๆ เช่น
หลักสูตรก่อนวัยเรียนหลักสูตรประถมศึกษา หลักสูตรอุดมศึกษา
หรืออาจหมายถึงกลุ่มของแผนย่อยต่างๆ ที่ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวัง
3.1.5. หลักสูตรในฐานะที่เป็นมวลประสบการณ์
แนวคิดของหลักสูตรในฐานะที่เป็นประสบการณ์ของผู้เรียนนั้น
หมายถึงประสบการณ์ ทุกอย่างของนักเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียน
รวมถึงเนื้อหาวิชาที่โรงเรียนจัดให้แก่ผู้เรียนด้วย แนวคิดนี้เกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการหนึ่ง
การไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของหลักสูตรในความหมายแคบที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการรอบด้านขึ้นในตัวผู้เรียน
ประการที่สอง
การสอนของครูที่ยึดหนังสือเรียนและเนื้อหาสาระมากเกินไปทำให้การสอนจืดชืดไม่มีชีวิตชีวา
โรงเรียนจึงควรจัดกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์ต่างๆ
เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิด ได้กระทำ ได้แก้ปัญหา และค้นพบด้วยตนเอง
การจัดหลักสูตรจึงควรพิจารณาถึงประสบการณ์ ทุกด้านที่พึ่งมีของผู้เรียน
ความหมายของหลักสูตรตามแนวคิดนี้ครอบคลุมความรู้และประสบการณ์ทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบโรงเรียนที่จัดให้แก่ผู้เรียน
เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
แนวคิดในความหมายของหลักสูตรดังกล่าวนี้เป็นความหมายในแนวกว้างและสมบูรณ์ที่สุด
เพราะครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียน
3.1.6. หลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทาง
แนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทางนั้นเป็นสิ่งที่สังคมมุ่งหวังหรือคาดหวังให้เด็กได้รับ
กล่าวคือ
ผู้ที่ศึกษาจนจบหลักสูตรไปแล้วจะมีคุณลักษณะอย่างไรบ้างจะเกิดผลอย่างไรในตัวผู้เรียนบ้าง
แนวคิดนี้มองหลักสูตรในฐานะที่ทำให้เกิดผลการเรียนรู้ตามที่มุ่งหวังที่จะเกิดขึ้นจากการเรียนรู้
ดังนั้น การจัดการหลักสูตร
การกำหนดจุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผล จำต้องศึกษาและวางแผนให้สอดคล้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วย
3.1.7. หลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
แนวคิดของหลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนนั้น
เป็นการมองหลักสูตรในฐานะที่เป็นแผนการเตรียมโอกาสของการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่จัดขึ้นโดยโรงเรียน
หรือสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าโดยรวมเอาแผนย่อยๆ
ที่เป็นโอกาสของการเรียนรู้ที่คาดหวังเข้าไว้ด้วยกัน
แผนงานนั้นมิได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ
แต่จะมีการวางแผนสำหรับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น
แผนงานจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อผู้เรียนโดยโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบในการจัดโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียน
จากความหมายของหลักสูตรข้างต้นจะเห็นว่า
ความหมายของหลักสูตรมีการขยายความหมายและเปลี่ยนแปลงไปซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ยุคสมัยหรือกาลเวลา
จะเห็นได้ว่า แต่ละยุคแต่ละสมัย มนุษย์เล็งเห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์จากการศึกษาต่างๆ
กัน
2. ความเชื่อในปรัชญาและจิตวิทยาการศึกษา
ความเชื่อปรัชญาที่เปลี่ยนไปทำให้ความหมายของหลักสูตรเปลี่ยนไป เช่น
ถ้าเชื่อในปรัชญาจิตนิยม และช่วงที่จิตวิทยายังไม่เข้ามามีบทบาททางการศึกษา
ความหมายของหลักสูตรก็คือเนื้อหาวิชาที่ให้เด็กเรียน
ต่อมาเมื่อมีความเชื่อในปรัชญาพิพัฒนาการนิยม
และมีจิตวิทยาเข้ามามีบทบาททางการศึกษา
ความหมายของหลักสูตรก็เปลี่ยนเป็นกิจกรรมหรือมวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้แก่เด็ก
3. สภาพการดำรงชีวิต สังคม
และวัฒนธรรม ตลอดจนลัทธิการปกครองก็เป็นตัวกำหนดความหมายของหลักสูตรด้วยส่วนหนึ่ง
3.2 คุณสมบัติของหลักสูตร
คุณสมบัติของหลักสูตร หมายถึง
ธรรมชาติหรือลักษณะของหลักสูตรว่าเป็นอย่างไรซึ่งอาจหมายรวมถึงข้อตกลงหรือข้อยอมรับเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของหลักสูตร
คุณสมบัติหรือกฎเกณฑ์ของหลักสูตร มีดังนี้
3.2.1.
หลักสูตรมีลักษณะเป็นพลวัต (Dynamis) และเปลี่ยนไปตามความต้องการและความเปลี่ยนแปลงของสังคมอยู่เสมอ
คุณสมบัติข้อนี้แสดงว่าประสบการณ์และกิจกรรมการเรียนการสอนที่จัดให้แก่ผู้เรียนจะไม่ซ้ำเหมือนเดิม
แต่จะเปลี่ยนแปลงและเพิ่มอยู่เสมอ
โดยจะเปลี่ยนแปลงในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตามความจำเป็น เนื้อหาสาระและกิจกรรมใดยังเสนอเป้าหมายและจำเป็นต่อผู้เรียนและสังคมก็คงไว้
ในบางครั้งอาจจะคงเนื้อหาสาระไว้อย่างเดิม
แต่การจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ
อาจจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ให้เหมาะสม
เพราะกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่จัดให้แก่ผู้เรียนซึ่งเคยเหมาะสมเพียงพอในระยะเวลาหนึ่งและสถานการณ์หนึ่ง
อาจจะไม่เหมาะสมและเพียงพอในอีกระยะเวลาหนึ่งและอีกสถานการณ์หนึ่ง
เพราะฉะนั้นหลักสูตรจึงมีการเปลี่ยนแปลงอันเป็นคุณสมบัติที่เด่นชัดประการณ์หนึ่ง
3.2.2.
การพัฒนาหลักสูตรเป็นการพัฒนาต่อเนื่อง คุณสมบัติข้อนี้มีลักษณะใกล้เคียงและเสริมข้อแรกคือ
หลักสูตรมีการเปลี่ยนต่อเนื่องกันไปตามความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องเป็นวัฏจักรในกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่มีการเปลี่ยนแปลงรวมอยู่ด้วย
หลักสูตรเป็นสิ่งที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ
เพราะหลักสูตรที่ดีควรตอบสนองต่อสังคม และเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
หลักสูตรจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
เพื่อที่จะให้กระบวนการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการต่อเนื่องอย่างแท้จริง
จึงจำเป็นต้องมีองค์ประกอบหรือหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบงานดังกล่าวต่อเนื่องกันไปการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแต่ละครั้ง
ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกิจกรรมและประสบการณ์ทุกชนิดในคราวเดียวกัน ถ้าหากสังคมเองมิได้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
ข้อสังเกตจากการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแต่ละครั้งจะพบว่า
เนื้อหาสาระและกิจกรรมทั้งหลายของการเรียนการสอนจะซ้ำของเดิมเกินกว่า 80%
เพราะในการปรับปรุงตัวหลักสูตรแต่ละครั้งเราอาจจะเปลี่ยนจุดมุ่งหมายบางประการใหม่
และปรับปรุงโครงสร้างของหลักสูตรซึ่งได้แก่การให้น้ำหนักความสำคัญของกิจกรรมหรือเนื้อหาสาระเสียใหม่
แต่กิจกรรมและเนื้อหาสาระของวิชาต่างๆ
หรือตำราที่มีอยู่เดิมก็อาจสามารถสนองจุดมุ่งหมายใหม่ได้
ถ้ากิจกรรมหรือเนื้อหาใดไม่สนองจุดมุ่งหมายดังกล่าวก็ปรับปรุงสิ่งเหล่านั้นเสียใหม่เป็นกรณีๆ
ไป
3.2.3.
หลักสูตรไม่สามารถแสดงกิจกรรมหรือกระทำกิจกรรมต่างๆ
ตัวของมันเองได้จึงจำเป็นต้องใช้กิจกรรมหรือการกระทำอย่างอื่นมาช่วย เช่น
การพัฒนาหลักสูตรการจัดทำหลักสูตร การปรับปรุงหลักสูตร การสร้างหลักสูตร
เพราะฉะนั้นหลักสูตรจึงทำหน้าที่เป็นผู้กระทำอยู่ตลอดเวลา
3.3 ความสำคัญของหลักสูตร
หลักสูตรเป็นองค์ประกอบอันสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของการจัดการศึกษา
การจัดการศึกษาประเภทและระดับใดก็ดีจะขาดหลักสูตรไปมิได้
เพราะหลักสูตรจะเป็นโครงร่างกำหนดไว้ว่าจะให้เด็กได้รับประสบการณ์อะไรบ้างจึงจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กและสังคม
หลักสูตรเป็นแนวทางที่จะสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ผู้เรียน
นอกจากนี้หลักสูตรยังเป็นเครื่องชี้ให้เห็นโฉมหน้าของสังคมในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรอีกด้วย
นักการศึกษาชาวอเมริกัน ได้กล่าวเน้นความสำคัญของหลักสูตรว่า “หลักสูตรเสมือนเครื่องนำทางให้เด็กไปสู่จุดมุ่งหมาย
หลักสูตรไม่ใช่เป็นแต่เพียงแนวทางการเรียนเท่านั้น ยังรวบรวมรายการและปัญหาต่างๆ
ไว้อีกด้วย หลักสูตรไม่ใช่เนื้อหาวิชาแต่เป็นกิจกรรมทั้งหมดที่นำเข้ามาในโรงเรียน”ในการจัดการศึกษาที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้นต้องอาศัยหลักสูตรเป็นเครื่องมือนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ถ้าปราศจากหลักสูตรเสียแล้ว การจัดการศึกษาจะไม่มีวันสำเร็จลุล่วงไปตามเป้าหมายของการจัดการศึกษาที่กำหนดไว้ได้เลย
หลักสูตรจึงเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาทีเดียว ซึ่ง ใจทิพย์
เชื้อรัตนพงษ์ (2539 : 11) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่าการที่จะทราบว่าการศึกษาในระดับต่างๆ
จะดีหรือไม่ดีสามารถดูจากหลักสูตรการศึกษาในระดับนั้นๆ ของประเทศ
เพราะหลักสูตรเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงจุดมุ่งหมายและนโยบายทางการศึกษาของชาติเข้าสู่การปฏิบัติในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ
หลักสูตรจะเป็นเสมือนกับหางเสือที่จะคอยกำหนดทิศทางให้การเรียนการสอนเป็นไปตามความมุ่งหมายของการศึกษาหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ
หลักสูตรเป็นเครื่องชี้นำทางในการจัดความรู้และประสบการณ์แก่ผู้เรียนซึ่งครูจะต้องปฏิบัติตามเพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน
หลักสูตรจึงเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษา และเป็นเครื่องชี้ถึงความเจริญของชาติ ถ้าประเทศใดมีหลักสูตรที่เหมาะสม
ทันสมัยและมีประสิทธิภาพคนในประเทศนั้นก็ย่อมมีความรู้
มีคุณภาพและศักยภาพในการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่จากความสำคัญของหลักสูตรดังกล่าว
พอสรุปได้เป็นข้อๆ ดังนี้
1. หลักสูตรเป็นเสมือนเบ้าหลอมพลเมืองให้มีคุณภาพ
2. หลักสูตรเป็นมาตรฐานของการจัดการศึกษา
3. หลักสูตรเป็นโครงการและแนวทางในการให้การจัดการศึกษา
4. ในระดับโรงเรียนหลักสูตรจะให้แนวการปฏิบัติแก่ครู
5. หลักสูตรแนวทางในการส่งเสริมความเจริญงอกงามและพัฒนาการของเด็กตามจุดมุ่งหมายของการศึกษา
6. หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดแนวทางในการจัดประสบการณ์ว่า
ผู้เรียนและสังคมควรจะได้รับสิ่งใดบ้างที่จะเป็นประโยชน์แก่เด็กโดยตรง
7. หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดว่า
เนื้อหาวิชาอะไรบ้างที่จะช่วยให้เด็กมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น
เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
8. หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดว่า
วิธีการดำเนินชีวิตของเด็กให้เป็นไปด้วยความราบรื่นและผาสุกเป็นอย่างไร
9. หลักสูตรย่อมทำนายลักษณะของสังคมในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร
10. หลักสูตรกำหนดแนวทางความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ
ทักษะและเจตคติของผู้เรียนที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและชาติบ้านเมือง
หลักสูตรเปรียบเสมือนเข็มทิศที่ใช้ในการจัดการศึกษา
เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายของแผนการศึกษาแห่งชาติที่ต้องการให้หลักสูตรช่วยพัฒนาบุคคลต่างๆ
ให้เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถและพัฒนาการในทุกๆด้าน
นอกจากนี้หลักสูตรยังช่วยทำให้บุคคลต่างๆ
สามารถกำหนดแนวทางในการประกอบอาชีพตามความสามารถ ความถนัดและความสนใจของตนเอง
เพื่อบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ
ตลอดจนช่วยพัฒนาประเทศชาติไปสู่ความเจริญในทุกๆด้าน
ความสำคัญของหลักสูตร อำภา บุญช่วย (2533 : 20 - 21) สรุปได้ดังนี้
1. เป็นเอกสารของทางราชการ หรือเป็นบัญญัติของรัฐบาล
เพื่อให้บุคคลที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาปฏิบัติ
ไม่ว่าเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐบาลหรือเอกชน ดังนั้นหลักสูตรจึงเปรียบเสมือน “คำสั่ง” หรือ “ข้อบังคับ” ของทางราชการชนิดหนึ่งนั่นเอง
2. เป็นเกณฑ์มาตรฐานทางการศึกษา
เพื่อควบคุมการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ
รวมทั้งเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างหนึ่งในการที่จะจัดสรรงบประมาณ บุคลากร
อาคารสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาของรัฐบาลให้แก่โรงเรียน
3. เป็นแผนการดำเนินงานของนักบริหารการศึกษาที่จะต้องอำนวยการควบคุมดูแล
และติดตามประเมินผลให้เป็นไปตามนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาล
4. เป็นแผนการปฏิบัติงานหรือเครื่องชี้นำทางในการปฏิบัติงานของครู
เพราะหลักสูตรจะเสนอแนะจุดมุ่งหมาย การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผลการเรียนการสอนซึ่งครูควรจะปฏิบัติอย่างจริงจัง
5. เป็นเครื่องมือของรัฐในอันที่จะพัฒนาคนและพัฒนากำลังคนซึ่งจะเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติตามแผนของรัฐบาล
6. เป็นเครื่องชี้ถึงความเจริญของชาติ
เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ถ้าประเทศชาติใดมีหลักสูตรที่เหมาะสม
ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้คนในประเทศของตนมีคุณภาพ
สำหรับ สันต์ ธรรมบำรุง (2527 : 9 - 10) ได้กล่าวถึงความสำคัญของหลักสูตรไว้ว่า
1. หลักสูตรเป็นแผนปฏิบัติงานของครู
เพราะหลักสูตรจะกำหนดจุดมุ่งหมายเนื้อหาสาระการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
และการประเมินผลไว้เป็นแนวทาง
2. หลักสูตรเป็นข้อกำหนดแผนการเรียนการสอน
อันเป็นส่วนรวมของประเทศเพื่อนำไปสู่ความมุ่งหมายตามแผนการศึกษาแห่งชาติ
3. หลักสูตรเป็นเอกสารของทางราชการเป็นบัญญัติของทางรัฐบาล
เพื่อให้บุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาปฏิบัติตาม
4. หลักสูตรเป็นเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา เพื่อควบคุมการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ
และยังเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างหนึ่งในการจัดสรรงบประมาณ บุคลากร อาคารสถานที่
วัสดุอุปกรณ์ฯลฯ ของการศึกษาของรัฐให้แก่สถานศึกษาของรัฐบาลด้วย
5. หลักสูตรเป็นแผนดำเนินงานของผู้บริหารการศึกษาที่จะอำนวยความสะดวกและควบคุมดูแลติดตามผลให้เป็นไปตามนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาลด้วย
6. หลักสูตรจะกำหนดแนวทางในการส่งเสริมความเจริญงอกงาม
และพัฒนาการของเด็กตามจุดหมายของการศึกษา
7. หลักสูตรจะกำหนดลักษณะและรูปร่างของสังคมในอนาคตได้ว่าจะเป็นไปในรูปใด
8. หลักสูตรจะกำหนดแนวทางให้ความรู้
ทักษะและความสามารถความประพฤติที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอันเป็นการพัฒนากำลังคน
ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติที่ได้ผล
>>>หลักสูตรจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความเจริญของประเทศ
เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน
ประเทศใดจัดการศึกษาโดยมีหลักสูตรที่เหมาะสม ทันสมัย มีประสิทธิภาพ
ทันต่อเหตุการณ์ และการเปลี่ยนแปลงย่อมได้กำลังคนที่มีประสิทธิภาพสูง
นอกจากนี้ สุนีย์ ภู่พันธ์ (2546 : 16) ได้กล่าวถึงความสำคัญของหลักสูตรสรุปได้ดังนี้
1. หลักสูตรเป็นเสมือนเบ้าหลอมพลเมืองให้มีคุณภาพ
2. หลักสูตรเป็นโครงการและแนวทางในการให้การศึกษา
3. หลักสูตรเป็นแนวทางในการส่งเสริมความเจริญงอกงามและพัฒนาการของเด็ก
ตามจุดหมายของการจัดการศึกษา
4. หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดแนวทางในการจัดประสบการณ์ว่าผู้เรียนและสังคมควรจะได้รับสิ่งใดบ้างที่เป็นประโยชน์แก่เด็กโดยตรง
5. หลักสูตรเป็นเครื่องมือกำหนดว่าเนื้อหาวิชาอะไรบ้างที่จะช่วยให้เด็กมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น
เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
6. หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดว่าวิธีการดำเนินการดำเนินชีวิตของเด็กให้เป็นไปด้วยความราบรื่นและผาสุกเป็นอย่างไร
7. หลักสูตรย่อมกำหนดแนวทางความรู้ ความสามารถ
ความประพฤติทักษะและเจตคติของผู้เรียนในอันที่อยู่ร่วมกันในสังคมและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและชาติบ้านเมือง
โดยสรุปแล้วหลักสูตรมีความสำคัญเป็นอย่างมากในกระบวนการจัดการเรียนการสอน
เพราะหลักสูตรบอกให้ทราบว่าผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างไร
และจะต้องจัดเนื้อหาสาระอย่างไร เครื่องมือวัดผลประเมินผลอย่างไร ดังนั้นหลักสูตรจึงเป็นหัวใจของการจัดการเรียนการสอน
และเป็นตัวกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่ความมุ่งหมาย
ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และเป็นไปตามที่สังคมต้องการ
3.4 องค์ประกอบของหลักสูตร (Curriculum Component)
องค์ประกอบตามหลักสูตรอาจจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด
แต่ส่วนใหญ่มีประเด็นหรือองค์ประกอบที่สำคัญเหมือนกันอย่างครบถ้วน
ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้หลักสูตรสามารถไปใช้หลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์ประกอบที่สำคัญคือ
3.4.1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร (Curriculum Aims)
3.4.1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร (Curriculum Aims)
จุดมุ่งหมายของหลักสูตร หมายถึง
ความตั้งใจหรือความคาดหวังที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวผู้ที่จะผ่านหลักสูตรจุดมุ่งหมายของหลักสูตรมีความสำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดทิศทางและขอบเขตในการศึกษาแก่เด็กช่วยในการเลือกเนื้อหาและกิจกรรม
ตลอดจนใช้เป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการประเมินผล
จุดมุ่งหมายของการศึกษามีหลายของระดับ ได้แก่
จุดมุ่งหมายหลายระดับหลักสูตรซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่บอกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้เป้าหมายของหลักสูตรนั้นๆ
จุดมุ่งหมายของกลุ่มวิชา
วิชาแต่ละกลุ่มจะสร้างคุณลักษณะที่แตกต่างกันให้กับผู้เรียนดั้งนั้นแต่ละกลุ่มวิชาจึงมีจุดมุ่งหมายไว้ต่างกัน
จุดมุ่งหมายรายวิชาเป็นจุดหมายที่ละเอียดจำเพาะเจาะจงกว่าจุดมุ่งหมายกลุ่มวิชา
ผู้สอนกลุ่มรายวิชาจะกำหนดจุดมุ่งหมายในการสอนเนื้อหาแต่ละบทแต่ละตอนขึ้นในรูปของจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม
แม้ว่าจุดมุ่งหมายทางการศึกษาจะมีระดับดังกล่าวแล้วจุดมุ่งหมายหลายระดับย่อมสอดคล้องกันและนำไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน
3.4.2. เนื้อหา (Content)
เมื่อกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตรแล้ว กิจกรรมขึ้นต่อไปนี้
การเลือกเนื้อหาประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ
ที่คาดว่าจะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
โดยดำเนินการตั้งแต่การเลือกเนื้อหาสาระและประสบการณ์
การเรียงลำดับเนื้อหาสาระพร้อมทั้งการกำหนดเวลาเรียนที่เหมาะสม
3.4.3. การนำหลักสูตรไปใช้ (Curriculum implementation)
เป็นการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ
เช่นการจัดทำวัสดุหลักสูตร ได้แก่ คู่มือครู เอกสารหลักสูตร แผนการสอน แนวการสอน
และแบบเรียน เป็นต้น
การจัดเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดโต๊ะ เก้าอี้
ห้องเรียน วัสดุอุปกรณ์ในการเรียน จำนวนครูและสิ่งแวดล้อมอำนวยความสะดวกต่างๆ
การดำเนินการสอน เป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนการนำหลักสูตรไปใช้
เพราะหลักสูตรจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการสอนของครู
ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ในด้านการถ่ายทอดเนื้อหาความรู้การวัดและประเมินผล
จิตวิทยาการสอน ตลอดทั้งปรัชญาการศึกษาของแต่ละดับ
จึงทำให้การเรียนของผู้เรียนบรรลุเป้าหมายของหลักสูตร
.
4.4. การประเมินผลหลักสูตร (Evaluation)
4.4. การประเมินผลหลักสูตร (Evaluation)
การประเมินผลหลักสูตร คือ การหาคำตอบว่า
หลักสูตรสัมฤทธิ์ผลตามที่กำหนดในจุดมุ่งหมายหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
และอะไรเป็นสาเหตุ การประเมินผลหลักสูตรเป็นงานใหญ่และมีขอบเขตกว้างขวาง
ผู้ประเมินจำเป็นต้องวางโครงการประเมินผลไว้ล่วงหน้า
3.5 ลักษณะของหลักสูตรที่ดี
หลักสูตรเป็นแนวทางสำคัญในการจัดการเรียนการสอน
ลักษณะของหลักสูตรที่ดีจะนำไปสู่การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ
และเกิดสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา หลักสูตรที่ดีควรมีดังนี้
1) ตรงตามความมุ่งหมายของการศึกษา
2) ตรงตามลักษณะของพัฒนาการของเด็กในวัยต่างๆ
3) ตรงตามลักษณะวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีเอกลักษณ์ของชาติ
4.)มีเนื้อหาสาระเรื่องที่สอนเพียงพอที่จะช่วยให้นักเรียนคิดเป็นและมีพัฒนาในการทุกด้าน
5) สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้เรียน คือ จัดวิชาทักษะ
และวิชาเนื้อหาให้เหมาะสมกันในที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเจริญงอกงามทุกด้าน
6) หลักสูตรที่ดีควรสำเร็จขึ้นด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย
เพื่อจะให้ผลดีควรจัดให้เป็นคณะกรรมการ
7) หลักสูตรที่ดีจะต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้ต่อไป
และจะต้องเรียงลำดับความยากง่ายไม่ให้ขาดตอนจากกัน
8) หลักสูตรที่ดีจะต้องเป็นประสบการณ์ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเด็กเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสแก้ปัญหาต่างๆ
ในชีวิต เพื่อให้เป็นอยู่อย่างผาสุก
9) หลักสูตรที่ดีจะต้องเพิ่มพูนและส่งเสริมทักษะเบื้องต้นที่จำเป็นของเด็ก
10) หลักสูตรที่ดีย่อมส่งเสริมให้เด็กเกิดความรู้ ทักษะ เจตคติ ความคิดริเริ่ม
มีความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินชีวิต
11) หลักสูตรที่ดีจะต้องส่งเสริมให้เด็กทำงานเป็นอิสระ
และทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะเพื่อพัฒนาให้รู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย
12) หลักสูตรที่ดีย่อมบอกแนวทาง วิธีสอน
และสื่ออุปกรณ์ประกอบเนื้อหาสาระที่สอนไว้อย่างเหมาะสม
13) หลักสูตรที่ดีย่อมมีการประเมินผลอยู่ตลอดเวลาเพื่อทราบข้อบกพร่องในการที่จะนำไปปรับปรุงให้ดียิ่งๆ
ขึ้นไป
14) หลักสูตรที่ดีจะต้องจัดประสบการณ์ให้เด็กเกิดความรู้ความเข้าใจ
และมีโอกาสแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ
15) หลักสูตรที่ดีต้องส่งเสริมให้เด็กรู้จักแก้ปัญหา
16) หลักสูตรที่ดีต้องจัดประสบการณ์ที่มีความหมายต่อชีวิตของเด็ก
17) หลักสูตรที่ดีต้องจัดประสบการณ์และกิจกรรมหลายๆ อย่าง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกอย่างเหมาะสมตามความสนใจ
ความต้องการ และความสามารถของแต่ละบุคคล
18) หลักสูตรที่ดีจะต้องวางกฎเกณฑ์ไว้อย่างเหมาะสมแก่การนำไปปฏิบัติและสะดวกแก่การวัดและประเมินผลมนุษย์จะมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
และหลายครั้งของการเรียนรู้เหล่านั้นเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจ
และเกิดขึ้นภายนอกสถาบันการศึกษา นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า มนุษย์คนนั้นเห็นว่า
การเรียนรู้สิ่งใดมีประโยชน์และมีคุณค่า
และการมีคุณค่าของการเรียนรู้จะขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคนกลุ่มคนเวลา
และสถานการณ์ในการนำความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้นี้ไปใช้ ทั้งหมดทั้งสิ้น คือ
กระบวนการของการศึกษา
วัตถุประสงค์ของการศึกษาเรียนรู้นั้นขึ้นอยู่กับบุคคลบางคนเรียนรู้เพื่อมีชีวิตรอด
(Survive) บางคนเรียนรู้เพื่อให้มีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าขึ้น
(Thrive) แต่ก็น่าเสียดายที่ว่า
โอกาสที่คนจะเรียนรู้และรับประสบการณ์ในการเรียนรู้นั้นไม่เพียงพอ
และไม่เท่าเทียมกัน (Gordon & Rebell, 2007) หลักสูตรจะช่วยแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร
การจัดการการเรียนรู้ใน
ระบบการศึกษาในทุกวันนี้ ขึ้นอยู่กับว่า มีอะไรที่เป็นความรู้อยู่บ้าง
สิ่งนั้นก็จะถูกถ่ายทอดไปยังผู้เรียน
ในหลักสูตรที่เน้นตัวเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง (Subject-Centered Curriculum) จะมุ่งเน้นความรู้เฉพาะทางที่อยู่ในเนื้อหาทางวิชาการของวิชานั้นๆ
แต่เราในฐานะนักการศึกษา ต้องจดจำใว้เสมอว่า
การศึกษามิใช่เป็นเพียงแค่กระบวนการเผยแพร่สาระความรู้ที่มีอยู่เท่านั้น
แต่กระบวนการทางการศึกษาที่ดีต้องเน้นให้ผู้เรียนได้นำสาระทางวิชาการที่ได้
เรียนรู้นั้นไปเพื่อได้รับการพัฒนาและนำไปแสวงหาหรือเพื่อการค้นพบความรู้ ใหม่ (Wraga,
2009) การปรับเปลี่ยนมุมมองในสิ่งที่เรียกว่า ความรู้ (Knowledge)
และ มาตรฐานและข้อบังคับ (Standards and Regulations) รวมถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี
ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความรู้อย่างกว้างขวาง
การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชาชนเป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมโลก
และเศรษฐกิจโลกขึ้น การกระจายค่านิยม และความก้าวหน้าของความเป็นประชาธิปไตย
ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องเรียนรู้ และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า
การศึกษานั้นมิใช่มีกรอบจำกัดเพียงแค่คำว่า “โรงเรียน”
เท่านั้น
แต่ค่านิยมและความเชื่อที่ว่าโรงเรียนคือสถานที่ที่สร้างสรรค์การเรียนรู้
และเพื่อให้ “โรงเรียน” เป็นสถานที่ที่ให้การศึกษาและเป็นแหล่งการเรียนรู้กับคนให้มากที่สุด
ครอบคลุมสิ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
หลักสูตรเป็นเสมือนเข็มทิศในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน
และเป็นสิ่งที่กำหนดและสะท้อนกลับแนวความคิดการเรียนรู้
รวมถึงกิจกรรมทางการศึกษาให้กับผู้เรียน (Sowell, 2000)จึงจำเป็นที่โรงเรียน
ต้องพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในอดีต
หลักสูตรทางการศึกษาและการเรียนรู้ เป็นเพียงกระบวนการถ่ายทอดทัศนคติ ความรู้
และทักษะ จากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าและมีการศึกษาสูงกว่า
ไปสู่คนที่มีประสบการณ์และการศึกษาที่ต่ำกว่า เท่านั้น ประกอบกับโดยทั่วไปแล้ว
สังคมตระหนักและให้ความสำคัญ ว่า โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษาของสังคมเพียงแห่งเดียวที่ให้โอกาสทางการเรียน
รู้กับบุคคลในชาติ
ทั้งที่การศึกษาเรียนรู้อาจเกิดขึ้นจากภายนอกห้องเรียนและอาจเกิดขึ้นได้ ตลอดเวลา
ดังนั้นทฤษฎีการจัดการศึกษาจึงมิได้มุ่งเพียงแค่ทฤษฎีเกี่ยวกับในระบบ โรงเรียน
หากแต่ต้องรวมถึงทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับสมาชิกโดยรวมของสังคม (Gordon
& Rebell, 2007) การกำหนดหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงหลักการศึกษาพื้นฐานที่ว่า
การศึกษาเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต และในทุกสถานการณ์ที่คนมีชีวิตอยู่ร่วม
หลักปรัชญาที่ควรคำนึงในการกำหนดหลักสูตร
ในการร่างหลักสูตรการ
เรียนการสอน ควรต้องคำนึงถึงปรัชญาของโลก ของประเทศ และค่านิยมต่างๆ
ความต้องการของสังคม และเป้าหมายของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปรัชญาของโลก
(World Philosophy) ที่เป็นพื้นฐานในการกำหนดทิศทางของการจัดการศึกษา
(Webb, Metha & Jordan, 2003) ได้แก่
1.
Ontology (Metaphysics): การเรียนรู้ของจริงต่างๆ
ที่อยู่ในโลกและสิ่งแวดล้อมรอบตัวโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า
2.
Epistemology: การเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ
3.
Axiology: การเรียนรู้ในเรื่องของความดี ความสวยงาม ค่านิยม
โดยมาผสมผสานกับ Educational Domains เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่พึงประสงค์
อันได้แก่
1.
Cognitive Domain: มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทางด้านความรู้
และสติปัญญา
2.
Affective Domain: มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดทัศนคติที่ดี
เกิดความรักในสิ่งที่ได้เรียนรู้และการเรียนรู้
3.
Psychomotor Domain: มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะ
ความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ได้เรียนรู้
หากเราลองเปรียบเทียบกับ
องค์ 4 ของการศึกษาไทย กล่าวคือ
พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถ ศึกษา และพลศึกษา
เราก็เห็นได้ว่ามีพื้นฐานที่ไม่ต่างกัน
ซึ่งก็เป็นที่มาของหลักสูตรปัจจุบันที่เน้นให้ ผู้เรียนเป็นคนเก่ง เป็นคนดี
และเป็นผู้ที่อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังนั้นข้อสำคัญในการกำหนดหลักสูตร คือ
ต้องคำนึงถึงการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและเตรียมตัวผู้เรียนที่จะ
เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ นอกโรงเรียนได้อย่างมีความสุข เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม Dewey
(1916) เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ที่เกิดจากประสบการณ์นอกโรงเรียน
โดย Dewey ได้ระบุว่า การศึกษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ การศึกษาที่ตั้งใจให้เกิดการเรียนรู้ (Deliberate
Education) และการศึกษาที่เกิดจากสถานการณ์หรือเรียนรู้จากสิ่งอื่นๆ
(Incidental Education) นักการศึกษามักจะมุ่งเน้นการจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองเพียง
การศึกษาประเภทแรก
และลืมนึกถึงการเตรียมผู้เรียนในการที่จะต้องพบกับสถานการณ์ที่จะต้องเผชิญ
และเรียนรู้กับการศึกษาประเภทที่สอง
หลักสูตรแม้จะจัดไว้สำหรับนักเรียนในระบบโรงเรียนแต่ก็ต้องเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้นอกชั้นเรียนหรือนอกโรงเรียน
เพราะได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้นมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระบบโรงเรียนของผู้เรียน
(Anyon, 2005; Barton, 2003; Gordon, Bridglall & Meroe, 2005) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากการเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง
หลักสูตรและผู้ที่รับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตร ในการกำหนดมาตรฐานของหลักสูตร
และกำหนดตัวมาตรฐานต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบการศึกษา จึงควรได้รับการปฏิรูป
หากโรงเรียนและบุคคลที่กำหนดกลไกทางการศึกษาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ทันกับ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเรียนรู้แล้ว
การเรียนรู้ก็คงทิ้งห่างระบบโรงเรียนไปไกล (Collins & Halverson, 2009)
การขยายตัวของแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ
ควรได้รับการคำนึงถึงในการกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน เป็นต้นว่า
การจัดการเรียนที่บ้าน (Home Schooling) การเรียนรู้ ณ
ที่ทำงาน (Workplace Learning) การศึกษาทางไกล (Distance
Learning) ศูนย์การเรียนรู้ (Learning Centers) โทรทัศน์เพื่อการศึกษา (Educational TV) Video และ Software
ต่างๆ รวมถึง Websites ใน Internet สิ่งเหล่านี้มันบอกได้ถึง
วิธีการและกระบวนการยุคใหม่แห่งการเรียนรู้และระบบใหม่ของการศึกษา (Collins
& Halverson, 2009)
การขยายขอบเขตของหลักสูตร
ละการจัดการการเรียนรู้
ควรต้องคำนึงสำหรับผู้รับผิดชอบในการออกแบบและกำหนดหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง
ความรับผิดชอบ (Responsibility)ในการจัดการการศึกษา
และ ความคาดหวัง (Expectations) ที่ต้องได้รับการพัฒนาจนไปถึงระดับปัจเจกบุคคลเนื้อหาสาระ
(Content) รวมถึงกระบวนการฝึกฝน ความมีวินัยในการเรียน
และการเรียนรู้ที่ว่าจะต้องเรียนอย่างไร วิธีสอน (Pedagogy) ที่จะต้องพัฒนาจากการฝึกฝน
จนมีความรู้ความสามารถและสามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นและสิ่งรอบตัว
และสถานที่
นักการศึกษาต่างเข้าใจดี
ว่า หลักสูตรที่ดีนั้น เกิดจากกระบวนการที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องของการคิด การวิจัย
และการประเมินจากผลสะท้อนกลับของการนำหลักสูตรไปใช้ (Tyler, 1949) ดังนั้น
การที่จะได้มาซึ่งผลของความคิดที่ครอบคลุม การวิจัยที่เชื่อถือและยืนยันได้
และผลสะท้อนกลับของการใช้หลักสูตร จึงต้องเกิดจากบุคคลที่หลากหลาย
แต่ละบุคคลจากแต่ละฝ่ายจะมีแง่คิด มุมมองและความตั้งใจ รวมถึงเป้าหมายในการพัฒนาคนผ่านกระบวนการของการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม การร่างและ การออกแบบหลักสูตร
รวมถึงการพิจารณายอมรับในหลักสูตรไม่สามารถจำกัดอยู่เพียงแค่แวดวงของครู
ผู้บริหารการศึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรเท่านั้นการตัดสินใจในการกำหนดหลักสูตร
จะเกิดขึ้นภายใต้บริบทที่เป็นปัจจุบันของชุมชนจังหวัด ภาค
หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น (Webb, Metha & Jordan, 2003) หลักสูตรที่ดี และเป็นที่ยอมรับของสถานที่หนึ่ง
ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ดีและเกิดสัมฤทธิผลที่ดีกับอีกสถานที่หนึ่ง
หรือที่เดี่ยวกัน แต่ในเวลาที่ต่างกันหรือใช้กับผู้เรียนต่างกลุ่มกัน
วัตถุประสงค์ วิธีการ ความแข็งแกร่งและความสำเร็จของหลักสูตร
ควรที่จะได้รับอิทธิพลมาจากบุคคลในหลากหลายอาชีพไม่ว่าจะเป็นบุคคลในสายการเมืองการปกครองสายสังคมศาสตร์
สายเศรษฐศาสตร์ นักการศึกษาเอง หรือแม้กระทั่งบุคคลในสายการศาสนาก็ตาม (Tietelbaum, 1998) ผู้กำหนดหรือผู้ใช้หลักสูตรควรต้องได้รับคำปรึกษาทั้งโดยทางตรงและ
ทางอ้อม
และทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
จากบุคคลตั้งแต่ผู้ปกครองกลุ่มชมรมหรือสมาคมในชุมชน ครู คณะกรรมการบริหารโรงเรียน
ข้าราชการทางการศึกษาของอำเภอและจังหวัด คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
รายงานการศึกษาต่างๆ รัฐบาลของชาติ องค์กรอาชีพต่างๆ
ตลอดจนเป้าหมายและมาตรฐานของบุคคลที่พึงประสงค์ในระดับชาติ
ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการที่บริษัทเอกชนหลายบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมร่างและกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย
บริษัทเหล่านี้จะเป็นผู้ระบุถึงศักยภาพความรู้ ความสามารถและทักษะในการทำงาน
ที่ทางบริษัทต้องการ
และมหาวิทยาลัยก็จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการส่งนักศึกษาเข้าเรียนรู้งานและฝึกงานในบริษัทเหล่านั้น
เมื่อสำเร็จการศึกษานักศึกษาก็จะมีทักษะตรงตามที่บริษัทต้องการ และพร้อมเข้าทำงานในบริษัทเหล่านั้นได้เลย
โดยที่บริษัทก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงาน
การกำหนดหลักสูตรที่ดีก็จะเป็นเสมือนแสงไฟที่ส่องทางไปสู่ความสำเร็จของบุคคลที่เดินตามแสไฟที่ส่องนำทางนี้
แสงไฟจึงต้องส่องแสงไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาคน มิใช่ส่องไปแบบไร้ทิศทางอย่างไรก็ตามหลักสูตรต้องเป็นที่เข้าใจได้
(Comprehensiveness) สำหรับผู้ใช้หลักสูตร
ต้องมีความเป็นเหตุเป็นผล (Cogency) มีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพัน
(Coherency) และมีความกลมกลืน (Consonance) ทั้งในส่วนของวิชาเดียวกันที่สอนในชั้นที่ต่างระดับกันที่เรียกว่าการกลมกลืนและเกี่ยวพันในแนวตั้ง
และในส่วนของวิชาที่ต่างกันแต่สอนในระดับเดียวกัน
คือในแนวนอนรวมถึงความเกี่ยวพันกับโครงสร้างและความต้องการของสังคม
เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ประโยชน์ของการเรียนรู้อย่างแท้จริงในชีวิตประจำวัน
เซยเลอร์ อเล็กซานเดอร์ และเลวิส (Sayler, Alexander and Lewis. 1981 : 8) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ว่า หลักสูตร หมายถึงแผนการเรียนการสอนที่จัดโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่บุคคลที่ได้รับการศึกษา
บีน และคนอื่นๆ (Beane & others. 1986 : 34 - 35)สรุปความหมายของหลักสูตรไว้โดยใช้เกณฑ์ความเป็นรูปธรรม (Concrete) ไปสู่นามธรรม (Abstract) และจากการยึดโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง (School - centered) ไปสู่การยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner - centered) โดยได้อธิบายไว้ ดังนี้
1. หลักสูตร คือ
ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการศึกษา (Curriculum as
product)
2. หลักสูตร คือ
โครงการหรือแผนการในการจัดการศึกษา (Curriculum as
program)
3. หลักสูตร คือ
การเรียนรู้ที่กำหนดไว้อย่างมีความหมาย (Curriculum as intended learning)
4. หลักสูตร คือ
ประสบการณ์ของผู้เรียน (Curriculum
as experience of the
learner)
โอลิวา (Oliva. 1992 : 8 – 9) ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตรโดยแบ่งเป็น
1.การให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์ (Purpose) หลักสูตรจึงมีภาระหน้าที่ที่จะทำให้ผู้เรียนควรจะเป็นอย่างไรหรือมีลักษณะอย่างไร
หลักสูตรแนวคิดนี้จึงมีความหมายในลักษณะที่เป็นวิธีการ ที่นำไปสู่ความสำเร็จตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมาย เช่น
หลักสูตร คือ การถ่ายทอด
มรดกทางวัฒนธรรม หลักสูตร คือ การพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน เป็นต้น
2. การให้นิยามโดยยึดบริบทหรือสภาพแวดล้อม
(Contexts) นิยามหลักสูตรในลักษณะนี้ เป็นการอธิบายถึงลักษณะทั่วไปของหลักสูตรซึ่งแล้วแต่ว่าเนื้อหาสาระของหลักสูตรมีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น
หลักสูตรที่ยึดเนื้อหาวิชาหลักสูตรที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหลักสูตรเพื่อการปฏิรูปสังคม เป็นต้น
3.การให้นิยามโดยยึดวิธีดำเนินการหรือยุทธศาสตร์ (Strategies) เป็นการให้นิยามหลักสูตร ในเชิงวิธีดำเนินการที่เป็นกระบวนกา
ยุทธศาสตร์หรือเทคนิควิธีการที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เช่น
หลักสูตร คือ
กระบวนการแก้ปัญหาหลักสูตรคือการทำงานกลุ่มหลักสูตรคือการเรียนรู้รายบุคคลหลักสูตรคือโครงการหรือแผนการจัดการเรียนการสอเป็น
โอลิวา
ได้สรุปความหมายของหลักสูตรไว้ว่า
หลักสูตร คือ
แผนงานหรือโครงการที่จัดประสบการณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้เรียนโดยแผนงานต่างๆ
จะถูกกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษ มีขอบเขตกว้างขวาง
หลากหลาย
เพื่อเป็นแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต้องการดังนั้น
หลักสูตรอาจเป็นหน่วย (Unit) เป็นรายวิชา (Course)
หรือเป็นรายวิชาย่อย (Sequence of courses) ทั้งนี้
แผนงานหรือโครงการทางการศึกษาดังกล่าว
อาจจัดขึ้นได้ทั้งในและนอกชั้นเรียนภายใต้การบริหารและดำเนินงานของสถานศึกษา
โซเวลล์ (Sowell. 1996 : 5) ได้กล่าวว่ามีผู้อธิบายความหมายของหลักสูตรไว้อย่างมากมายเช่น หลักสูตรเป็นการสะสมความรู้ดั้งเดิมเป็นวิธีการคิดเป็นประสบการณ์ที่ถูกกำหนดไว้เป็นแผนการจัดสภาพการเรียนรู้เป็นความรู้และคุณลักษณะของผู้เรียนเป็นเนื้อหาและกระบวนการเป็นแผนการเรียนการสอน เป็นจุดหมายปลายทางและผลลัพธ์ของการจัดการเรียนการสอนและเป็นผลผลิตของระบบเทคโนโลยี เป็นต้น โซเวลล์ ได้อธิบายว่า เป็นเรื่องปกติที่นิยามความหมายของหลักสูตรมีความแตกต่างกันไปเพราะบางคนให้ความหมายของหลักสูตรในระดับที่แตกต่างกันหรือไม่ได้แยกหลักสูตรกับการจัดการเรียนการสอน แต่อย่างไรก็ตามโซเวลล์ได้สรุปว่าหลักสูตร คือการสอนอะไรให้กับผู้เรียนซึ่งมีความหมายที่กว้างขวางที่รวมทั้งข้อมูลข่าวสารทักษะ และ ทัศนคติ ทั้งที่ได้กำหนดไว้และไม่ได้กำหนดไว้ให้แก่ผู้เรียนในสถานศึกษา
ชมพันธุ์ กุญชร ณ อยุธยา (2540 : 3 – 5) ได้อธิบายความหมายของหลักสูตรว่ามีความแตกต่างกันไปตั้งแต่ความหมายที่แคบสุดจนถึงกว้างสุดซึ่งสามารถจำแนกความคิดเห็นของนักการศึกษาที่ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตรแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1.หลักสูตร หมายถึง
แผนประสบการณ์การเรียน นักการศึกษาที่มีความคิดเห็นว่า หลักสูตร หมายถึง
แผนประสบการณ์การเรียนนั้นมองหลักสูตรที่เป็นเอกสารหรือโครงการของการศึกษาที่สถาบันการศึกษาไว้วางแผนไว้เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาตามแผนหรือโครงการที่กำหนดไว้หลักสูตรตามความหมายนี้หมายรวมถึงแผนการเรียนหรือรายวิชาต่างๆ
ที่กำหนดให้เรียนรวมทั้งเนื้อหาวิชาของรายวิชาต่างๆ กิจกรรมการเรียนการสอน
และการประเมินผล ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนความคิดเห็นของนักการศึกษากลุ่มนี้
ไม่รวมถึงการนำหลักสูตรไปใช้หรือการเรียนการสอนที่ปฏิบัติจริง
2.หลักสูตร หมายถึง
ประสบการณ์การเรียนของผู้เรียนที่สถาบันการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียนประกอบด้วย
จุดมุ่งหมาย เนื้อหา การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนการประเมินผล
รุจิร์ ภู่สาระ (2545 : 1) ได้อธิบายความหมายของหลักสูตรว่าหมายถึงแผนการเรียนประกอบด้วยเป้าหมาย และจุดประสงค์เฉพาะที่จะนำเสนอและจัดการเนื้อหารวมถึงแบบของการเรียนกาสอนตามจุดประสงค์และท้ายที่สุดจะต้องมีการประเมินผลของการเรียน
นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า
"หลักสูตร" ด้วยอักษรย่อ SOPEA ซึ่งหมายถึง
- S (Curriculum as Subjects and
Subject Matter)
หลักสูตร คือ
รายวิชาหรือเนื้อหาวิชาที่เรียน
- O (Curriculum as Objectives)
หลักสูตร คือ จุดหมายที่ผู้เรียนพึงบรรลุ
- P (Curriculum as Plans)
หลักสูตร คือ
แผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์แก่นักเรียน
- E (Curriculum as Learners,
Experiences)
หลักสูตร คือ
ประสบการณ์ทั้งปวงของผู้เรียนที่จัดโดยโรงเรียน
- A (Curriculum as Educational
Activities)
หลักสูตร คือ
กิจกรรมทางการศึกษาที่จัดให้กับนักเรียน
หลักสูตรในความหมายเดิมจะหมายถึงรายวิชาต่างๆที่นักเรียนจะต้องเรียนส่วนความหมายใหม่จะหมายถึงมวลประสบการณ์ทั้งหมดที่นักเรียนจะได้ภายใต้คำแนะนำและความรับผิดชอบของโรงเรียน
หากจะสรุปความหมายของหลักสูตรจากนักการศึกษาหลายท่านพอจะสรุปได้ดังนี้
1. หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาเนื้อหาสาระที่จัดให้แก่ผู้เรียน
2. หลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารหลักสูตร
3. หลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่างๆที่จะให้แก่นักเรียน
4. หลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียน
5. หลักสูตรในฐานะที่มวลประสบการณ์
6. หลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทาง
7. หลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
นอกจากนั้นยังมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับหลักสูตรอีกเป็นต้นว่า
1. โปรแกรมการเรียน (A Program of Studies) คำนี้ใช้แทนความหมายของหลักสูตรซึ่งคนทั่วๆไปใช้คล้ายกับรายการเรียงลำดับรายวิชาปัจจุบันยังมีการใช้คำนี้ในการจัดการศึกษาอุดมศึกษาโดยการจัดลำดับรายวิชา
2. เอกสารการเรียน (A Docment) เป็นการให้ความหมายของหลักสูตรตามจุดมุ่งหมายที่จะให้ศึกษา
เพื่อเสนอต่อผู้มาติดต่อที่สถานศึกษา
3. แผนการจัดกิจกรรม (Planned Experiences) หมายถึง
กิจกรรมทั้งมวลที่โรงเรียนจัดให้นักเรียนและการวางแผนหลักสูตรเป็นการเตรียมการให้โอกาสกับผู้เรียน
4. หลักสูตรแฝง (Hidden Curriculum) หมายถึง
หลักสูตรที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า
หลักสูตรถือว่ามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาทุกระดับ
หลักสูตรระบุสิ่งที่คาดหวังให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนและแนวทางจัดให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์หลักสูตรเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวในการสร้างบ้านส่วนการสอนเป็นกระบวนการหรือวิธีการหลักสูตรจะระบุสิ่งที่จะสอนในโรงเรียนระบุสิ่งที่ผู้เรียนควรจะเรียนรู้
(เนื้อหา)
จากแนวคิดของนักการศึกษาหลายท่านดังกล่าวพบว่ามีการให้นิยามแตกต่างกันไป
ทั้งนี้เพราะแต่ละคนมีเกณฑ์ที่ใช้ในการอธิบายแตกต่างกันในการศึกษาครั้งนี้
สรุปได้ว่าหลักสูตร หมายถึง แนวการจัดประสบการณ์
และ/หรือ เอกสารที่มีการจัดทำเป็นแผนการจัดสภาพการเรียนรู้หรือโครงการจัดการศึกษาโดยมีการกำหนดวิธีการจัดการเรียนรู้
เพื่อให้ผู้เรียนเกิดผลการเรียนรู้ตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายตามที่หลักสูตรกำหนดไว้
สรุป (Summary)
หลักสูตรมีความสำคัญยิ่งในการจัดการศึกษา
เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นแนวทางในการจัดประสบการณ์แก่ผู้เรียน
อันเปรียบเสมือนแผนที่หรือ เข็มทิศที่จะนำทางในการวัดการศึกษาให้บรรลุผล
หลักสูตรที่ดีจะต้องมีความชัดเจนเหมาะสมกับผู้เรียนและสังคมซึ่งจะทำให้การนำหลักสูตรไปใช้หรือการจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพราะฉะนั้นในการจัดทำหรือการพัฒนาหลักสูตรจึงควรถือเป็นงานสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการเพื่อให้ได้หลักสูตรในระดับต่างๆ
ที่ดีเพราะถ้าเรามีหลักสูตรที่ดีถูกต้องเหมาะสมการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางในเรื่องการศึกษาจะเป็นไปโดยราบรื่นสามารถสร้างลักษณะสังคมที่ดีในอนาคตโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมืออย่างเต็มภาคภูมิ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น